เรื่องของสิว ที่ไม่ใช่เรื่องสิว ๆ ตอนที่ 1

เรื่องของสิว...ที่ไม่ใช่เรื่องสิว ๆ ตอนที่ 1

 

สิว คืออะไร?

สิว เป็นความผิดปกติของรูขุมขนและต่อมไขมัน มักพบมากที่ใบหน้า หน้าอก และแผ่นหลัง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่อย่างหนาแน่น ถึงแม้ว่าสิวจะไม่ใช่โรคที่ทำอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ปัญหาสิว.....ก็ไม่ใช่เรื่องสิว ๆ เพราะมีผลโดยตรงกับจิตใจและความมั่นใจ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาสิวรุนแรงอาจรู้สึกหดหู่จนไม่อยากเข้าสังคม หรือร้ายแรงจนมีอาการซึมเศร้าได้ สิวมักพบได้มากในช่วงวัยรุ่น โดยส่วนใหญ่มักจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดสิว ได้แก่ ฮอร์โมน พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนจะเข้าสู่เรื่องสาเหตุของการเกิดสิวและวิธีดูแลรักษา เรามาทำความรู้จักโครงสร้างและส่วนประกอบต่าง ๆ ของผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับการเกิดสิวกันก่อนนะคะ

ผิวหนังเป็นอวัยวะชั้นนอกสุดของร่างกาย ทำหน้าที่ห่อหุ้มปกป้องร่างกายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก รับสัมผัส รักษาสมดุลของน้ำ และควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ผิวหนังมนุษย์แบ่งได้ 3 ชั้น หากเรียงจากชั้นนอกสุดจะเริ่มจากชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ จนถึงชั้นไขมันซึ่งเป็นชั้นในสุด โดยโครงสร้างของชั้นผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับการเกิดสิว คือ

ชั้นหนังกำพร้า(epidermis) ที่ชั้นนี้จะมีเซลล์ผิวชนิดต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบ อาทิ คีราติโนไซต์ (keratinocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของผิวหนัง ทำหน้าที่สร้างโปรตีนคีราติน (keratin) เพื่อประสานเนื้อเยื่อผิวหนังเข้าด้วยกัน คีราติโนไซต์จะถูกสร้างขึ้นใหม่เรื่อย ๆ โดยเซลล์ใหม่ที่เกิดจากการแบ่งตัวจะอยู่ชั้นในสุด และจึงค่อย ๆ ขยับออกไปด้านนอกเพื่อแทนที่เซลล์เก่าที่ตาย แล้วจึงหลุดลอกเป็นขี้ไคลในท้ายที่สุด เมลาโนไซต์ (melanocytes) เป็นเซลล์ที่มีเม็ดสีเมลานินเป็นองค์ประกอบ มีหน้าที่ปกป้องเซลล์คีราติโนไซต์จากรังสียูวี เมลานินเป็นสาเหตุของสีผิวที่แตกต่างกันของแต่ละชนชาติและเป็นที่มาของจุดด่างดำหลังการเกิดสิว

ชั้นหนังแท้(dermis) เป็นที่อยู่ของรากขน รูขุมขน ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ หลอดเลือด ปลายประสาท และเซลล์ไฟโบรบลาสต์ (fibroblast) ภายในต่อมไขมันมีเซลล์พิเศษที่ชื่อว่า ซีโบไซต์ (seboctye) ทำหน้าที่ผลิตไขมันที่เรียกว่า ซีบัม (sebum) และขับออกมาทางปากรูขุมขน เพื่อเคลือบผิวหนังรักษาความชุ่มชื้น ป้องกันการหลุดลอกของชั้นหนังกำพร้า และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

สิวการเกิดจากสาเหตุจากอะไร?

1. การอุดตันที่รูขุมขน

การอุดตันในรูขุมขนเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ผิวหนังเคราติโนไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาไปไม่หลุดลอกออกไปตามปกติ แต่ยังคงทับถมกันอยู่ภายในรูขุมขน และไปกีดขวางไม่ให้ซีบัมที่ผลิตโดยต่อมไขมันถูกขับออกมาด้านนอก สุดท้ายการเกาะตัวกันของทั้งซีบัม เซลล์ผิวที่ตายแล้ว เชื้อจุลินทรีย์ และสิ่งสกปรกอื่น ๆ บนใบหน้า จะกลายเป็นก้อนที่ไปอุดตันทั้งในต่อมไขมันและท่อรูขุมขน

2. การหลั่งซีบัมที่มากเกินไป

จะสังเกตได้ว่าเรามักจะเริ่มมีสิวเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งสาเหตุก็มาจากระดับฮอร์โมนเพศที่สูงขึ้น (โดยเฉพาะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน) ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ต่อมไขมันขยายตัว จึงสามารถผลิตและหลั่งซีบัมได้มากขึ้น คราวนี้โอกาสที่จะเกิดการอุดตันในรูขุมขนจึงมีมากขึ้นไปด้วย

3. การอักเสบเนื่องจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

การอุดตันภายในท่อรูขุมขนจะทำให้ผนังของรูขุมขนขยายตัว ซึ่งหากผนังรูขุมขนขยายตัวมากเกินจนเกิดการฉีกขาดจะส่งผลให้สิ่งอุดตันภายในรูขุมขนกระจายไปในชั้นหนังแท้ ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะพวกเซลล์เม็ดเลือดขาวต่าง ๆ จนตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดซึ่งเป็นสัญญาณของการอักเสบ

4. การเจริญของเชื้อจุลินทรีย์

เชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแบคทีเรีย Cutibacterium acnes หรือชื่อเดิมคือ Propionibacterium acnes เป็นแบคเรียที่ชอบกินไขมัน การเจริญของ C. acnes ภายในรูขุมขนจะให้ผลพลอยได้เป็นสารประกอบทางเคมีและชีวเคมีต่าง ๆ ที่ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบตามมา

สิวมีกี่ประเภท?

สิวมักถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สิวไม่อักเสบ หรือที่เรียกว่า สิวอุดตัน หรือคอมีโดน (comedones) เช่น สิวหัวดำ หรือสิวหัวขาว ความแตกต่างระหว่างสิวทั้งสองแบบ คือ สิวหัวดำจะเป็นสิวหัวเปิดเนื่องจากการขยายตัวของรูขุมขน การทำปฏิกิริยาระหว่างซีบัมและออกซิเจนในอากาศ ทำให้เรามองเห็นเป็นตุ่มนูนมีจุดสีดำตรงกลาง ส่วนสิวหัวขาวเป็นสิวหัวปิด ซึ่งโดยปกติเราแทบจะมองไม่เห็นเนื่องจากรูขุมขนยังขยายตัวไม่มากพอ ยกเว้นเมื่อสิ่งอุดตันอยู่ใกล้กับผิวหนังชั้นนอกมาก ๆ เราอาจสามารถมองเห็นเป็นตุ่มสีขาวได้ สำหรับสิวอีกประเภทหนึ่ง คือสิวอักเสบ (Acne หรือ Acne vulgaris) ซึ่งตุ่มจะมีลักษณะนูนแดง เป็นไตแข็งเจ็บ มีหนอง หรืออาจพบเป็นถุงซีสต์ขนาดใหญ่ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบ

 

 

ที่มา

Fox, L., Csongradi, C., Aucamp, M., Du Plessis, J., & Gerber, M. (2016). Treatment modalities for acne. Molecules, 21(8), 1063.

 

Visitors: 1,065,990