รูปแบบของสมุนไพรในเครื่องสำอางวิถีธรรมชาติ

รูปแบบของสมุนไพรในเครื่องสำอางวิถีธรรมชาติ

                

 

ในปัจจุบันกระแสความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพรและวัตถุดิบจากธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่มีความตื่นตัวในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเคมีสังเคราะห์ทั้งต่อสุขภาพและระบบนิเวศน์ เป็นแรงผลักดันให้เทรนด์ด้านการดูแลสุขภาพและความงามของโลกมุ่งสู่วิถีธรรมชาติมากขึ้น การค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จึงพุ่งเป้าไปที่การลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ และเพิ่มการใช้สารพฤกษเคมีจากสมุนไพร ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ไม่มีผลข้างเคียงหรือมีน้อย ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และมีความยั่งยืนกว่า มากขึ้น

 

 

ความหมายของสมุนไพร และสารพฤกษเคมี ในทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง

  • ราชบัณฑิตสถานให้ความหมายของคำว่า “สมุนไพร (herb)” ไว้ว่า สมุนไพร คือ ผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากส่วนของพืชหรือสัตว์ และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่สามารถใช้เป็นยา หรือผสมกับสารอื่นตามตํารับยา ใช้เพื่อบําบัดโรค บํารุงร่างกาย หรือเป็นยาพิษได้ การนำพืชสมุนไพรมาใช้เป็นยารักษาภายนอกในสมัยโบราณนั้น มักเตรียมโดยการบดหรือตำพืชให้แหลก แล้วจึงนำมาทาหรือพอกบนผิวหนัง
  • สารพฤกษเคมี(phytochemicals) คือ สารเคมีตามธรรมชาติที่พบในพืช เป็นสารที่ช่วยบำรุง หรือปกป้องพืชจากสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ด้านการผลิตเครื่องสำอางนั้นมีการเติมสารพฤกษเคมีเพื่อบำรุง ฟื้นฟู เป็นแหล่งของสารอาหาร หรือทำหน้าที่เป็นสารออกฤทธิ์ต่าง ๆ เช่น ฆ่าเชื้อ หรือต้านอนุมูลอิสระ ให้กับผิวหนัง

 

 

ผงสมุนไพร vs สารสกัดสมุนไพร...เลือกใช้แบบไหนดี?

                 รูปแบบของสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอางมักอยู่ในรูปของสารสกัด ซึ่งความแตกต่างของการใช้ผงสมุนไพรที่ไม่ผ่านการสกัด และสารสกัดสมุนไพร มีดังต่อไปนี้

  • สมุนไพรที่ไม่ผ่านการสกัด (whole herb)

                สมุนไพรที่ใช้อาจอยู่ในรูปแบบสดหรือแห้ง และมักจะถูกแปรสภาพโดยการสับให้ละเอียดหรือบดเป็นผงก่อนการนำไปใช้ การลดขนาดมีจุดประสงค์เพื่อให้เนื้อสมุนไพรมีพื้นที่สัมผัสน้ำหรือผิวหนังได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแตกเซลล์พืชจนสารพฤกษเคมีที่ต้องการสามารถแทรกซึมออกมาได้ แต่การใช้ผงสมุนไพรแบบ whole herb ไม่ค่อยได้รับความนิยมในการเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องสำอางเนื่องจาก

o   สารพฤกษเคมีที่ละลายออกมามีปริมาณน้อย ผลิตภัณฑ์ที่ได้จึงอาจมีประสิทธิภาพต่ำ

o   การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทำได้ยาก เนื่องจากการสังเคราะห์สารพฤกษเคมีภายในเซลล์พืชสมุนไพรจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล, สารอาหารในดินที่ใช้ปลูก, และสภาพแวดล้อมในช่วงที่มีการเพาะปลูก

o   มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์สูง โดยเฉพาะจุลินทรีย์ชนิดก่อโรคบนผิวหนังมนุษย์ เช่น แบคทีเรียคลอสตริเดียม (Clostridium spp) ที่มักพบการปนเปื้อนระหว่างกระบวนการเก็บเกี่ยวและการทำแห้งที่ไม่ถูกหลักอนามัย

 

o   อายุการเก็บรักษาต่ำ เนื่องจากสมุนไพรมีการเสื่อมสลายง่ายจากสภาพแวดล้อมภายนอกและโดยการย่อยของเชื้อจุลินทรีย์

 

  • สารสกัดสมุนไพร (herbal extract)

                การสกัดสมุนไพรมีจุดประสงค์เพื่อแยกเอาสารพฤกษเคมีที่ต้องการออกจากเซลล์พืช โดยใช้ความร้อนหรือตัวทำละลายในการละลายอาสารพฤกษเคมีออกมา สารสกัดที่ได้อาจอยู่ในรูปของเหลว น้ำมันหอมระเหย หรืออาจรูปในรูปผงได้เช่นกัน หากมีการนำสารสกัดไปผ่านกระบวนการทำแห้งต่อ สาเหตุหลัก ๆ ที่สารสกัดสมุนไพรได้รับความนิยมในการใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเครื่องสำอางมากกว่าผงสมุนไพรแบบ whole herb ได้แก่

o   มีสารพฤกษเคมีในปริมาณที่สูง เนื่องจากกระบวนการสกัดมีประสิทธิภาพในการละลายสารพฤกษเคมีออกจากเซลล์พืชสูง และหากมีกระบวนการระเหยตัวทำละลายร่วมด้วยจะยิ่งช่วยให้สารสกัดมีความเข้มข้นมากขึ้น

o   สามารถกำหนดได้ว่าต้องการหรือไม่ต้องการสารชนิดได้ โดยอาศัยการเลือกวิธีสกัด ชนิดของตัวทำลาย และขั้นตอนการแยกสารให้บริสุทธิ์

o   มีคุณภาพสูงและสามารถควบคุมคุณภาพได้ โดยอาศัยการวิเคราะห์ปริมาณทางเคมี เช่น วิธีการไตเตรต และโครมาโทกราฟี เป็นต้น  

o   แทบไม่มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะจากการสกัดด้วยตัวทำละลายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำ อาทิ แอลกอฮอล์ กลีเซอรีน (glycerine) โพรไพลีนไกลคอล (propylene glycol) น้ำส้มสายชูแอปเปิ้ล (apple cider vinegar) และน้ำมัน เป็นต้น

o   อายุการเก็บรักษายาวนาน เนื่องจากตัวทำละลายที่ใช้สกัดมักมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ (preservative properties)

 

            นอกจากรูปแบบของสมุนไพรแล้ว การเลือกใช้สารสกัดจากแหล่งผลิตที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือการเลือกซื้อสารสกัดที่ได้จากส่วนของพืชที่ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งาน และการตรวจสอบวันหมดอายุของสารสกัด เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตควรคำนึงถึงเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากจะช่วยให้การนำสารสกัดไปใช้ในการผลิตเครื่องสำอางเกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้บริโภค

 

 


Visitors: 1,050,306