ไขข้อข้องใจ ทำไมเท้าเหม็น

ไขข้อข้องใจ ทำไมเท้าเหม็น

เท้าเหม็น หรือ โบรโมโดซิส (Bromodosis)เป็นสภาวะที่เท้ามีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ หลายคนอาจเข้าใจว่ากลิ่นเท้าเกิดจากเหงื่อ แต่ความจริงแล้วเหงื่อไม่มีกลิ่นแต่เป็นสาเหตุของความเปียกชื้นที่เท้าและเกี่ยวข้องกับการเจริญของเจ้าแบคทีเรียที่กลิ่นเหม็น ถึงแม้ว่ากลิ่นที่เท้าอาจมีผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพ แต่ก็ส่งผลต่อจิตใจไม่น้อยกว่าปัญหากลิ่นตัวเลย เพราะทำให้ผู้ที่สวมใส่รองเท้าเกิดความกังวลและขาดความมั่นใจในการถอดรองเท้า จนอาจถึงกับเสียบุคลิกภาพไปเลยก็ได้

 

อะไรเป็นสาเหตุทำให้เท้าเหม็น?

กลิ่นเหม็นที่เท้าเป็นกลิ่นของสารอินทรีย์ระเหยได้ที่ถูกสังเคราะห์โดยเชื้อแบคทีเรีย การเกิดกลิ่นขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ เหงื่อ, เชื้อแบคทีเรีย, และเศษซากของเซลล์ผิวหนัง โดย

  • เหงื่อ : ฝ่าเท้าของคนเราเป็นบริเวณที่มีต่อมเหงื่อหนาแน่นที่สุดในร่างกาย ในสภาวะที่มีเหงื่อออกมากบวกกับการระบายอากาศที่ไม่ดีจะเป็นสาเหตุให้เท้าเกิดความอับชื้น ซึ่งเป็นสภาวะที่เชื้อแบคทีเรียชอบและเจริญได้ดี
  • เชื้อแบคทีเรีย  : เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นเหม็นนั้นจัดอยู่ในกลุ่มแบคทีเรียประจำถิ่นที่ผิวหนังมนุษย์ มีการศึกษาที่พบว่าความรุนแรงของกลิ่นเท้าและปริมาณเชื้อแบคทีเรียมีความสัมพันธ์กันในเชิงบวก กล่าวคือ เท้าด้านที่อับชื้นและมีกลิ่นเหม็น มีเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากกว่าเท้าด้านที่ไม่มีกลิ่นเหม็นอย่างมีนัยสำคัญ
  • เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว : เศษซากของเซลล์ผิวหรือขี้ไคลที่สะสมบริเวณผิวหนังจะเป็นทำหน้าที่แหล่งอาหารชั้นดีให้กับเชื้อแบคทีเรียที่เท้า

 กลิ่นที่เท้าเป็นกลิ่นของสารเคมีอะไร? 

กลิ่นเท้าเกิดจากการกระบวนย่อยสลายสารอาหาร เช่น ไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต ให้เป็นสารอินทรีย์สายสั้น ๆ ได้หลายชนิดขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรีย และสารตั้งต้นที่แบคทีเรียใช้ในการเจริญ ตัวอย่างเช่น

  • แบคทีเรียกลุ่ม Brevibacteria เป็นจุลินทรีย์หลักที่เป็นสาเหตุของกลิ่นเท้า เมื่อเจ้าแบคทีเรียย่อยสลายเซลล์ผิวที่ตายจะผลิตมีเทนไธออล ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่ระเหยได้ และมีกลิ่นคล้ายกำมะถันออกมา
  • แบคทีเรียกลุ่ม Propionibacteria สังเคราะห์กรดโพรพิโอนิก (propionic acid)ซึ่งเป็นสารระเหยที่มีกลิ่นฉุน ระหว่างการกระบวนการหมักโดยใช้สารอินทรีย์คาร์บอนเป็นสารตั้งต้น
  • แบคทีเรียสายพันธุ์ Staphylococcus epidermidis  สังเคราะห์กรดไอโซวาลิริก (Isovaleric acid)ซึ่งมีกลิ่นรุนแรงคล้ายกับกลิ่นชีสจากกระบวนการหมักเช่นกัน

 

การค้นพบว่ากลิ่นเท้าและกลิ่นของลิมเบอร์เกอร์ชีส(Limburgercheese) ซึ่งเป็นชีสกลิ่นแรงที่ผลิตโดยอาศัยแบคทีเรีย Brevibacterialinens(แบคทีเรียกลุ่มเดียวกับที่พบที่เท้า) สามารถดึงดูดยุงตัวเมียที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรียได้ เป็นการจุดประกายไอเดียให้นักกีฏวิทยานามว่า Bart Knolsไปพัฒนาเครื่องมือเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อมาลาเรียในทวีปแอฟริกา โดยการผสมสารอินทรีย์ชนิดเดียวกับกลิ่นเหม็นที่เท้าในเครื่องมือดังกล่าวสำหรับล่อยุง ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้ชนะรางวัล อิกโนเบล ด้านชีววิทยา ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับงานวิจัยที่มีความคิดสร้างสรรค์ขั้นสุดยอด ประจำปี 2006

 

สารพัดวิธีบอกลาเท้าเหม็น

การรักษาสุขอนามัยของเท้าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันเท้าเหม็น เนื่องจากเป็นการกำจัดทั้งเชื้อแบคทีเรีย, เซลล์ผิวที่ตายแล้ว, และสิ่งสกปรกอื่น ๆ ซึ่งวิธีดูแลสุขอนามัยของเท้าที่สามารถปฏิบัติได้ง่ายในชีวิตประจำวัน มีตัวอย่างดังนี้ต่อไปนี้

 

  • ซับเท้าให้แห้ง ทุกครั้งหลังการล้าง เพื่อรักษาเท้าให้อยู่ในสภาพที่แห้ง และไม่เปียกชื้น
  • ตัดเล็บเท้า ให้สั้น และรักษาความสะอาดของเล็บเท้าอย่างสม่ำเสมอ
  • ทำความสะอาดด้วย สบู่สูตรต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยเน้นการฟอกบริเวณง่ามนิ้วเท้าและฝ่าเท้า
  • ใส่ถุงเท้า ทุกครั้งเมื่อต้องสวมรองเท้าหัวปิด เนื่องจากการสวมรองเท้าโดยไม่ใส่ถุงเท้าจะยิ่งทำให้เหงื่อ เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และไขมัน สะสมมากขึ้น ซึ่งเชื้อแบคทีเรียจะยิ่งเจริญเติบโตได้ดี
  • เปลี่ยนถุงเท้า ทุกวัน และควรสวมถุงเท้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้ายหรือขนสัตว์ ซึ่งมีการระบายอากาศที่ดีกว่าถุงเท้าที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ เช่น เส้นใยโพลิเอสเตอร์ และไนลอน
  • สับเปลี่ยนหมุนเวียนการใช้รองเท้า โดยระหว่างที่ไม่ใช้ควรนำรองเท้ามาตากแดดและผึ่งให้แห้งก่อนนำมาใส่ใหม่
  • ทำความสะอาดรองเท้าและแผ่นรองพื้นรองเท้าอย่างสม่ำเสมอ
  • ใช้ผงแป้งดับกลิ่นเท้าทาเท้าหรือโรยที่ถุงเท้าและรองเท้าด้านใน เพื่อดูดซับความเปียกชื้นจากเหงื่อที่เท้า
  • ฉีดพ่นสเปรย์ระงับกลิ่นหรือระงับเหงื่อที่เท้า โดยอาจใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกับที่ใช้ระงับกลิ่นตัวได้
  • ขัดเท้าและตามซอกนิ้วเท้าด้วยแปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม หรือทายาที่มีฤทธิ์ลอกเซลล์ผิวที่ตายแล้ว เช่น AHA เพื่อลดโอกาสในการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย
  • หมั่นทำความสะอาดตู้เก็บรองเท้า
  • หากเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราควรรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ หรือไปพบแพทย์
  • หากที่เท้ามีเหงื่อออกมากผิดปกติอาจจะด้วยสาเหตุจากฮอร์โมน หรือพันธุกรรม ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 


Visitors: 1,061,508